วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

ลงพื้นที่พบกับชาวบ้านช่วงก่อนสงกรานต์

ผมเดินทางไป 3 จังหวัดไปพบปะกับชาวบ้านที่อุบลราชธานี ศรีษะเกษ และ ร้อยเอ็ด ซึ่งได้ผลตอบรับมาอย่างดีเยี่ยม
ผมเน้นการสาธิตเกี่ยวกับสารเสริมประสิทธิภาพ มีการสาธิตวิธีการปรับสภาพดินรวมถึงคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน การสลายดินดาน ปรับสภาพน้ำ (ปรับ pH) การช่วยดูดซึมและจับใบร่วมกับปุ๋ยน้ำชีวภาพ/ปุ๋ยน้ำขี้หมูหมัก การผสมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 50% รวมถึงผมได้นำเสนอข้อมูลและวิธีการทำปุ๋ยน้ำขี้หมูหมักโดยใช้สูตรของ ม. เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยรวมแล้วเกษตรกรทุกคนที่ผมได้สาธิตและจำลองสถาณการณ์การทำการเกษตรขึ้นมาให้ดูกันชัด ๆ มีความสนใจและขอเข้ามาร่วมโครงการกับผม และเป็นที่น่ายินดีที่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย เพราะมั่นใจกับปุ๋ยน้ำขี้หมูหมักบวกกับสารจับใบ เพราะต้นทุนต่ำมาก ๆ ตลอดจนเครื่องฉีดปุ๋ยราคาต่ำ ประมาณ 2,000 บาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีอยู่แล้วและใช้งานค่อนข้างง่ายพื้นที่ 10 ไร่สามารถฉีดให้เสร็จภายในเช้าเดียวเลย

ผลสรุปจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ถือว่าผมได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรได้กลุ่มใหญ่ทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีษะเกษ มีผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถึงกับนัดผมให้กลับไปจัดประชุมกลุ่มเกษตรกรในละแวกนั้นเลยทีเดียว โดยท่านจะเป็นธุระในการประสานงานกลุ่มเกษตรต่่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถ้าผมได้กลับไปอีกครั้งคงเป็นงานใหญ่เลยก็ว่าได้

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

จากนักคอมพิวเตอร์สู่นักวิชาการการเกษตรอิสระ - ทำการเกษตรแบบนักวิจัยร่วมกับชาวบ้าน


ปัจจุบันเกษตรกรไทยประสพปัญหามากมายในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นฝนแล้ง น้ำท่วม ต้นทุนการผลิตสูง เช่นปุ๋ยเคมีราคาแพง ยาปราบศัตรูพืชราคาแพง น้ำมันแพง ปัญหาแมลงระบาดฆ่าไม่ตาย ผลผลิตต่อไร่ตกต่ำ ราคาผลผลิตตกต่ำ สารพันปัญหาที่ประดังเข้ามาทำให้เกษตรไทยอ่อนแอ ท้อแท้ อยากจะเลิกทำการเกษตร ซ้ำร้ายหนี้ ธกส. ยังพอกพูนขึ้นทุกปี ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ลูกหลานก็หนีเข้าไปหางานในกรุงเทพฯ เงินเดือนหยิบมือเดียวไม่สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ ภาครัฐดูแลไม่ทั่วถึง หรือถึงขั้นไม่เคยมีเวลาออกมาเหลียวแลเลย

ผมเป็นคนนึงที่เป็นลูกชาวนา เป็นเด็กเลี้ยงวัวตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ โตมาจากกลางท้องทุ่งที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ติดกับทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเผชิญกับปัญหาด้านการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ก็พยายามจะส่งให้เรียนสูง ๆ เพื่อที่จะหนีจากวงจรการเกษตรที่ฝากชีวิตไว้กับดินฟ้าอากาศ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน สารเคมีราคาแพงจนทำให้ทำนาไม่คุ้มทุน จนแล้วจนรอดพ่อแม่ตัดสินใจจำนำที่นาและขายวัวทั้งหมด (ขายวัวส่งควายเรียน) ประจวบกับเป็นปีแรกที่มีทุนกู้ยืมทางการศึกษาด้วย ส่งผมเรียนจนจบปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในที่สุด โชคดีที่ได้งานตอนปี 2543 ทั้ง ๆ ที่วิกฤตเศรษฐกิจสมัยนั้นหนักหนาสาหัสแบบสุด ๆ

ในระยะต่อมาผมได้ใช้หนี้ที่จำนองที่นาสำเร็จและก็มีเงินเก็บนิดหน่อยซื้อที่นาเพิ่มเติม ผมเองได้ขอให้พ่อแม่เลิกทำนาเพราะว่าทำแล้วไม่คุ้มทุน แถมมีอายุมากแล้วร่างกายก็อ่อนแอ แต่ยังไงก็ตามด้วยความรักในอาชีพเกษตรกรเหมือนที่ผมรักในอาชีพนักคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ผมพอมีอยู่มีกินมาเป็น 10 ปี แต่ยังไงก็ตามพ่อแม่ก็ยังทำนาต่อไปโดยไม่ฟังคำขอร้องของผมทั้ง ๆ ที่ผมเองก็ส่งเงินให้เขาใช้จ่ายทุกเดือนจนเขาไม่มีความจำเป็นต้องทำไร่ทำนาก็ตาม

วันนึงผมเริ่มคิดได้ ไหน ๆ พ่อแม่ก็ไม่เลิกทำนาอยู่แล้ว ในฐานะที่เรามีสายเลือดเกษตรกรเต็มตัว จึงได้ลงมือศึกษาด้านการเกษตรอย่างเต็มที่ ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักคอมพิวเตอร์มืออาชีพจึงได้ใช้ search engine ของ google.com เนี่ยแหละเป็นเครื่องมือหลัก ผมศึกษาข้อมูลการทำการเกษตรจากผู้รู้ ผู้มีประสพการณ์ อ่านหนังสือ บทความของทั้งนักวิชาการไทยและต่างประเทศ รวบรวมสมัครพรรคพวกที่มีเลือดเกษตรกรเต็มตัวคุยกันทาง msn และ ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลจากเกษตรกรโดยตรงโดยแบกเครื่องโน๊ตบุ๊คตัวเก่าตัวเก่งกับโปรแกรม excel ไปนั่งคำนวนต้นทุนกับชาวบ้านโดยเปรียบเทียบกันหลาย ๆ คนจนได้ข้อมูลและความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของปัญหาต่าง ๆ มากพอ และมาทำการบ้านอย่างหนักเพื่อหาวิธีจัดการกับปัญหาต่าง ๆ จากนั้นเริ่มค้นคว้าและทดลองร่วมกับชาวบ้านจนค้นพบว่าปัญหาหลาย ๆ อย่างก็มีทางออกที่ดี และน่าจะเป็นทางรอดของชาวเกษตรได้

ปัญหาหลัก ๆ พอจำแนกออกได้ประมาณนี้
1. ปุ๋ยเคมี/อินทรีย์ราคาแพง
2. สารเคมีกำจัดศัตรูพืชราคาแพงและอันตรายต่อสุขภาพ
3. นาแล้ง
4. น้ำท่วม
5. วัชพืช
6. แมลงระบาด (โดยเฉพาะเพลี้ยต่าง ๆ )
7. ดินเสียอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีต่อเนื่องมาหลายปี
8. ค่าไถ/พรวนดินราคาแพง
9. ค่าเกี่ยวข้าวราคาแพง
10. ผลผลิตต่อไร่ตกต่ำ
11. ราคาผลผลิตตกต่ำ

จากที่วิเคราะห์แล้วปัญหาทั้ง 11 ข้อล้วนแล้วแต่ยากต่อการจัดการซึ่งเป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งผมก็พอมีวิธีที่จะจัดการหรือทุเลาให้ปัญหาลดน้อยถอยลงได้ไม่น้อยเหมือนกัน ลองวิเคราะห์วิธีแก้ปัญหาของผมแต่ละข้อดูซิครับว่าที่ผมเริ่มทำการทดลองในแต่ละพื้นที่ว่าจะพอปรับไปใช้กับพื้นที่ของท่านได้มากน้อยแค่ไหน

ปัญหา
1. ปุ๋ยเคมี/อินทรีย์ ราคาแพง
ผมได้ศึกษาตรงนี้พบว่ามีข้อมูลจากนักวิจัยไทยจากมาหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์กำแพงแสน ได้คิดค้นสูตรปุ๋ยน้ำขี้หมูหมักมาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี (ราคา 800-1300บาท / กระสอบ) หรือปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด (ราคา 300-400บาท / กระสอบ) ที่ขายกันทั่วไป ซึ่งได้ผลอย่างน่าตื่นเต้นมาก เพราะผลผลิตข้าวต่อไร่สูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยถึง 166.6 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.3 ตันต่อไร่

ที่มา:http://nsw-rice.com/index.php/riceknowladge/fertirize/257-pig-ferti‏ <ปุ๋ยน้ำสกัดจากขี้หมู>

รศ.อุทัย คันโธ และ อ.สุกัญญา จัตตุพรพงษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ได้ศึกษา ทดลองสกัดปุ๋ยจากมูลสุกร พบว่ามีธาตุอาหารพืช ทั้ง 13 ธาตุ เหมาะกับการปลูกพืช (ได้แก่ N, P, K, Ca, Mg, S, Fe, Mn, Cu, Zn, B, Mo และ Cl) มีฮอร์โมนพืชช่วยเร่งการเจริญเติบ โตของพืช และน้ำสกัดมูลสุกรจะไปคลุมจุลินทรีย์ที่เป็นเชื่อโรคกับต้นพืชด้วย ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ไม่มีโรค แมลงรบกวน ไม่ต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงใดๆ เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีมาก เมล็ดเต็ม น้ำหนักดี สีข้าวแล้วได้ข้าวสารมาก ปลายข้าวน้อย โรงสีพอใจมาก และได้ราคาเต็มไม่มีการตัดราคาเลย ใน ระหว่างทดลอง ฝนทิ้งช่วงและอากาศแห้งแล้งกว่า 2 เดือน แต่ผลผลิตได้มากกว่าเดิม ซึ่งการปลูกข้าวแบบเดิมๆ ต้นข้าวแห้งตายหมดแล้ว รศ.อุทัย แจงรายละเอียดว่า "นาข้าวที่ใช้ปุ๋ยน้ำสกัดเพิ่มผลผลิตมากกว่าแปลงใช้ปุ๋ยเคมี 166.6 กก.ต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตเพิ่ม 69% ลดต้นทุนการผลิตได้ 1,360 บาทต่อข้าว 1 ตัน (ลดลง 37.06%) และการปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มูลสุกรจะให้ผลผลิตสูงกว่าใช้ปุ๋ยเคมี โดยได้ผลผลิตเฉลี่ยถึง 1-1.3 ตันต่อไร่ เมล็ดมีน้ำหนักดีกว่าเดิม ขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวจะลดลงถึงไร่ละ 2,000-3,000 บาท สูตร วิธีทำน้ำสกัดมูลสุกร เพื่อใช้เป็นปุ๋ย
1. นำมูลสุกรแห้งบรรจุถุงไนล่อน แล้วแช่น้ำ ในถังหรือโอ่งดิน อัตราส่วนมูลสุกรแห้ง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร
2. ปิดฝาให้สนิทหมักไว้ 24 ชั่วโมง

3. ยกถุงมูลสุกร ออกจากถัง นำน้ำสกัดส่วนที่เหลือประมาณ 8 ลิตรมาเจือจางกับน้ำ

- กากมูลที่เหลือนำไปทำปุ๋ยทางดิน
- กรณีพืชอายุสั้นหรือประเภทใบบาง เช่น ข้าว พืชผัก กล้วยไม้ ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 20 ใช้ฉีดพ่น
การใช้น้ำ สกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ ช่วยทำให้พืชได้รับธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุอาหารเร็วขึ้น ทำให้ข้าวมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ใบเขียว ใบตั้ง ส่งผลให้พืชมีการสังเคราะห์ด้วยแสงอย่างเต็มที่ อีกทั้งแมลงศัตรูพืชขาดแหล่งอาศัย นอกจากนี้ข้าวมีความแข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น เมล็ดข้าวเต่ง และผลผลิตได้มากขึ้น การฉีดพ่นทางใบทำได้ดังนี้
- เมื่อข้าวมีอายุ 15 และ 30 วัน นำน้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 20 ลิตร พร้อมกับสารจับใบ 3-5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบอัตรา 40 ลิตรต่อไร่

- เมื่อข้าวมีอายุ 45, 60 และ 75 วัน นำน้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 10 ลิตร พร้อมกับสารจับใบ 3-5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบ อัตรา 40 ลิตรต่อไร่

- หากพบว่าข้าวบางบริเวณไม่สม่ำเสมอ ให้ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 10 ลิตร พร้อมกับสารจับใบ 3-5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบบริเวณที่ต้นข้าวเติบโตช้า จะช่วยให้ต้นข้าวโตสม่ำเสมอกันได้


จากผลการวิจัยและใช้งานจริงในหลาย ๆ จังหวัดโดยทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับ ธกส. เพื่อประยุกต์ใช้กับลูกค้าของ ธกส. เองแล้วได้ผลเป็นอย่างดีเยี่ยม เรามาวิเคราะห์ในหลาย ๆ จุดที่เป็นประเด็นที่ส่งผลให้เกิดผลผลผลิตที่สูงขนาดนี้

- การสกัดมูลสุกร มีทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองรวมทั้งฮอโมนพืชครบถ้วน และเป็นการให้ปุ๋ยโดยตรงทางใบซึ่งจะได้ผลดีเป็นพิเศษแถมยังต้านทานต่อแมลง ศัตรูพืชด้วย
การฉีดทางใบจะฉีดทุก ๆ 15 วัน ส่วนข้าวอายุ 15 และ 30 วันแรกจะใช้สูตรที่มีความเข้มข้นน้อยซึ่งจะทำให้ข้าวอยู่ได้เนื่องจากต้นที่ยังอ่อน ๆ เจอปุ๋ยขี้หมูเข้มข้นมาก ๆ อาจจะทำให้เค็มเกินไปและพืชตายในที่สุด ส่วนข้าว 45 วันขึ้นไปจะแข็งแรงและใช้สูตรที่มีความเข้มข้นได้

- สารจับใบ ซึ่งผมถือว่าตัวนี้เป็นพระเอกตัวนึงเลยทีเดียว มันทำให้ผมประหลาดใจ เมื่อผมได้ลงมือทดลอง เอาง่าย ๆ คือถ้าฉีดน้ำเปล่า ๆ ลงไปที่ใบพืชจะไม่ค่อยเปียกเท่าที่ควร น้ำจะไหลและหยดลงพื้นเกือบหมด แต่ถ้าผสมสารจับไบแค่ 2 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร กลับกลายเป็นว่าใบพืชเปียกไปหมดทั้งใบ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมสารจับใบจึงช่วยลดการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลง ได้ถึง 50% นอกจากนั้นสารจับใบบางยี่ห้อสามารถใช้หมักกับปุ๋ยเคมี/อินทรีย์ โดยผสมน้ำแล้วหมักทิ้งไว้ 1 คืนก่อนนำไปหว่านจะทำให้ปุ๋ยมีการดูดซึมดีขึ้น ลดการตกค้างในดินซึ่งเป็นสาเหตุให้ดินเสีย ซึ่งวิธีนี้ทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 100% ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนปุ๋ยถึง 50% เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามช่วงที่ข้าวกำลังออกรวงแนะนำให้หยุดใช้ปุ๋ยหมักน้ำขี้หมูเนื่องจากอาจจะทำให้มีข้าวเมล็ดลีบได้ ปุ๋ยขี้หมูถือว่ามีในโตรเจนสูงมาก หากต้องการเริ่งให้รวงข้าวดีมีน้ำหนักขึ้นอีกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยน้ำที่มีธาตุอาหารรองที่ครบถ้วน ซึ่งตัวนี้จะช่วยได้เยอะทีเดียว
ในส่วนของปุ๋ยหมักจากจุลินทรีย์หรือ EM ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่น่าจะดีไม่แพ้กันแต่เท่าที่ผมได้ลองสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างดู เค้าไม่ค่อยจะใช้กัน เพราะบอกว่าวิธีการหมักยุ่งยาก อาจจะเป็นความขี้เกียจของชาวบ้านหรือเปล่าก็ไม่รู้ทำให้เกษตรกรไม่ค่อยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์กันเท่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่หลักฐานทางวิชาการก็บอกอยู่ชัดเจนว่า "ของเค้าดีจริง" (รวมทั้งแม่ผมด้วย อุตส่าห์หมักไว้ในถึง 200 ลิตร แต่ไม่ยอมเอาไปฉีดข้าวเลย)

2. สารเคมีกำจัดศัตรูพืชราคาแพงและอันตรายต่อสุขภาพ
จากการศึกษาของผมแล้ว ยาฆ่าแมลงเนี่ยแทบจะไม่จำเป็นเลยหากเรามีวิธีป้องกันที่ดีไว้ก่อน แต่ถ้าแมลงระบาดมาที่เราแล้วจะแก้ไขลำบากมาก ๆ โดยเพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งทางออกคือ “กันดีกว่าแก้” โดยจะมีสารอินทรีย์ 3 ตัวที่นำมาประกอบกันฉีดพ่นทางใบถึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น
- น้ำส้มควันคือสารสกัดที่ได้จากการเผาถ่าน ตัวนี้ถือว่าเป็นพระเอกเลยก็ว่าได้ สารตัวนี้จะมีความเป็นกรดสูงมาก ๆ มีค่า PH 2.5-3 เลยทีเดียว ตัวนี้แมลงไม่ชอบเอาซะเลย ซึ่งโดยปกติน้ำที่ได้จากการเผาถ่านจะต้องทิ้งไว้ประมาณ 90 วัน จากนั้นนำมาแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำส้มควัน ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดและราคาก็ไม่สูงนักอยู่ที่ประมาณลิตรละ 50 - 100 บาท
- สารสกัดจากสะเดาซึ่งหลายคนคงรู้ดีว่ามันเจ๋งแค่ไหน
- สารสกัดจากบรเพชรตัวนี้ก็ไม่แพ้สารสะเดาเช่นเดียวกัน
จริง ๆ แล้วทีแรกผมคิดว่าสารพวกนี้หาซื้อยากและราคาแพงแต่จากที่ได้หาข้อมูลมาจริง ๆ แล้วมีหลาย ๆ บริษัทผลิตออกมาขายเป็นจำนวนมาก แถมยังราคาไม่แพงและปลอดภัยอีกด้วยเมื่อเทียบกับสารเคมี ถ้าเอามาผสมกับสารจับใบในปริมาณที่พอเหมาะยิ่งประหยัดและได้ผลดีขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเลย

3. นาแล้ง
อันนี้ปัญหาระดับประเทศหรือระดับโลกก็ว่าได้ครับ จริง ๆ แล้วนักวิชาการได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่า ทุกพื้นที่ในประเทศไทย มีปริมาณน้ำฝนที่เหลือเฟือในการเกษตร แต่เนื่องจากเราไม่มีการกักเก็บน้ำที่ดีทำให้ไม่มีน้ำที่เพียงพอต่อการทำการ เกษตร แนวคิดของในหลวงของเราที่ปราชญ์หลาย ๆ ท่านนำมาใช้คือ การมีบ่อหรือแหล่งน้ำจำนวน 1 ใน 10 ของพื้นที่การเกษตร จะทำให้มีน้ำเพียงพอตลอดปี แต่ปัญหาคือดินบางพื้นที่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ วิธีการหนึ่งคือการสร้างเมือกธรรมชาติ โดยเอาปุ๋ยคอกไปแขวนไว้ในบ่อ เวลาผ่านไป 2-3 เดือนจะทำให้เกิดเมือกธรรมชาติจากพวกพืชหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ในที่สุด อันนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านนี่เองครับ บางคนอาจจะขุดเจาะน้ำบาดาลซึ่งก็เป็นวิธีการที่ดี แต่ปัญหาที่เจอในหลาย ๆ พื้นที่คือน้ำกระด้างซึ่งมีความเป็นด่างสูง จำเป็นต้องปรับสภาพน้ำโดยใช้สารประสภาพน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องปรับค่า PH ให้เป็นกลางให้ได้คือควรจะมีค่าประมาณ 7 ซึ่งต้นทุนหลักๆ ก็จะอยู่ที่ค่าไฟฟ้า/น้ำมันในการสูบน้ำและราคาของสารแต่ละยี่ห้อ
จุดหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นจากการใช้ปุ๋ยน้ำขี้หมูหมักคือ การให้ปุ๋ยน้ำขี้หมูหมักฉีดพ่นทางใบ จะทำให้พืชดูดซึมอาหารได้ทั้ง ๆ ที่ดินแห้งแล้ง แม้กระทั่งอากาศแห้งแล้ง 2-3 เดือนติดต่อกันแต่ข้าวก็ยังใบเขียวและไม่ตาย ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีแล้วเนี่ยข้าวจะกินปุ๋ยไม่ได้เลย ทำให้แห้งตายในที่สุด และการที่ฉีดปุ๋ยทางใบ 15 วันต่อครั้งก็เสมือนกับมีฝนตกเป็นระยะ ๆ เดือนละ 2 ครั้งทำให้ข้าวสามารถสู้ความแห้งแล้งได้ ดังนั้นทางออกหนึ่งคือเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยขี้หมูกันเถอะครับ จากที่ผมคำนวณคร่าว ๆ แล้ว ขี้หมูแห้ง 1 กระสอบก็เพียงพอต่อการให้ปุ๋ยกับพื้นที่การทำนา 5 ไร่ โดยให้ปุ๋ย 5-6 ครั้งจนก่อนที่ข้าวจะออกรวง (ข้าวไม่ไวแสง)ซึ่งประหยัดสุด ๆ เพราะขี้หมู 1 กระสอบราคาไม่กี่สิบบาท (การให้ปุ๋ยสูตรเข้มข้นใช้หัวเชื้อ 20 ลิตรผสมได้ปุ๋ยน้ำ 200 ลิตร ฉีดข้าวได้ 5 ไร่/ครั้ง โดยประมาณ)
อีกประเด็นหนึ่งที่เวลานาแล้งแล้วข้าวใบเหลือหรือแดงเร็วคือการที่ดินเสีย/ดินแข็ง ซึ่งทำให้รากข้าวไม่สามารถหาอาหารเองได้ ดังนี้การปรับสภาพดินจะช่วยแก้ปัญหานาแล้งได้ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดให้หัวข้อที่ 7.


4. น้ำท่วม
อันนี้แก้ยากครับ แต่ยังไงก็ตาม โดยปกติน้ำไม่ได้ท่วมตลอดทั้งปี ซึ่งแต่ละพื้นที่ควรเก็บสถิติว่าช่วงเดือนไหนมักจะเกิดน้ำท่วมแล้วอย่าทำการเกษตรช่วงนั้น ซึ่งอาจจะกินระยะเวลา 1-2 เดือน ถ้าปลูกข้าวแนะนำให้ปลูกข้าวอายุสั้น เป็นข้าวไม่ไวแสงหรือข้าวนาปรัง ซึ่งสามารถผลิตข้าวได้ทุกฤดูจะได้หนีหรือเก็บเกี่ยวก่อนช่วงเวลาน้ำจะท่วมได้

5. วัชพืช
วัชพืชอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้งานโดยใช้สารจับใบผสม ก่อนฉีด โดยที่สารจับใบบางตัวสามารถปรับค่า PH ของน้ำได้ด้วย ทำให้สารเคมีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 100% เลยที เดียว และลดต้นทุึนลง 50% แต่อย่างไรก็ตาม ผมกำลังทดลองสูตรการจัดการวัชพืชโดยใช้สารอินทรีย์ที่ได้ข้อมูลมาจากปราชญ์ด้านการเกษตรท่านหนึ่งอยู่ ถ้าได้ผลประการใดจะนำมาเสนอให้ทุกท่านได้ทราบในโอกาสต่อไป

6. แมลงระบาด (โดยเฉพาะเพลี้ยต่าง ๆ )

อันนี้ปัญหาใหญ่มากครับ โดยเฉพาะปี 2552-2553 ซึ่งวิธีแก้นี้ยากยิ่งนัก ส่วนวิธีป้องกันให้กลับไปดูข้อ 2 ในเรื่อง สารเคมีกำจัดศัตรูพืชราคาแพง และอันตรายต่อสุขภาพ <น้ำส้มควัน>

7. ดินเสียอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมี/ปุ๋ยเคมีต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ใช้ปุ๋ยแล้วไม่ได้ผลไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ก็ตาม
ในข้อนี้มีทางแก้ครับ
- การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือใช้จุลินทรีย์เป็นเวลาหลาย ๆ ปีต่อเนื่องในการปรับปรุงดิน จะทำให้ดินดีขึ้นตามลำดับ (ลุงทุนค่อนข้างสูง)
- การใช้สารปรับสภาพดิน สารพวกนี้จะปรับค่า PH ของดิน รวมถึงทำให้ดินร่วนซุย ดินจะสามารถตรึงในโตรเจนในอากาศได้ปริมาณมาก จริง ๆ แล้วธาตุอาหารในดีนตามธรรมชาติในบ้านเราค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีมาต่อเนื่องหลายปีทำให้ธาตุอาหารที่จำเป็นเหล่านี้ไม่อยู่ในรูปที่พืชจะสามารถดูดซึมได้ ดังนั้นการใช้สารปรับสภาพดินจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง วิธีการใช้สารปรับสภาพดินคือนำมาผสมกับน้ำตามอัตราส่วน (ตามคู่มือของแต่ละยี่ห้อ) แล้วนำไปฉีดพ่นหรือรดลงดิน ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นอีกเราสามารถใช้น้ำส้มควันหรือน้ำหมักชีวะภาพผสมเข้าไปเพื่อปรับสภาพดินได้อีกแรง

8. ค่าไถนาราคาแพง
ค่าไถนาเนี่ย คือต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เกษตรกรควรจะไถให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือพื้นที่ที่มีน้ำทั่วถึง อาจจะทำการไถแค่ครั้งเดียวก็พอ ถ้าค่าไถนาไร่ล่ะ 200 - 300 บาท/ไร่/ครั้ง หมายถึงว่าราคามันพอ ๆ กับข้าว 1 กระสอบเลยทีเดียว ยิ่งหลายครั้งยิ่งต้นทุนต่อไร่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว *การใช้รถไถนาช่วยให้สะดวกสบาย แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต

9. ค่าเกี่ยวข้าวราคาแพง
ปัญหานี้คงต้องปล่อยไปตามระเบียบ ครับ เกษตรกรบางคนที่ผมได้พูดคุยเค้าแทบอยากจะถอยรถเกี่ยวข้าวเองด้วยซ้ำ ถ้าใครเกี่ยวก่อนจะได้เปรียบ แถวบ้านผมตกอยู่ประมาณ 600 บาท/ไร่ แต่ถ้าใครเกี่ยวช้าค่าเกี่ยวข้าวจะตกไป 800 บาท/ไร่ด้วยซ้ำ หรือไม่ก็เกี่ยวเองซะเลย (จะแรงถึงเปล่าเนี่ย) *การใช้รถเกี่ยวข้าวช่วยให้สะดวกสบายแต่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต

10. ผลผลิตต่อไร่ตกต่ำ
ในส่วนนี้มีหลายสาเหตุรวมกันครับ ลองกลับไปอ่านข้อก่อนหน้านี้ดูย่าง เช่นนาแล้ง น้ำท่วม ดินเสีย แมลง วัชพืช จากที่ผมได้ศึกษาอย่างจริงจัง มีประเดินหนึ่งซึ่งเกษตรกรไทยส่วนน้อยที่มีการประยุกต์ใช้กันคือ “สารส่งเสริมประสิทธิภาพ” โดยที่หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง บางคนบอกว่าใช้แล้วไม่เห็นจะได้ผล ไม่ได้ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีต่าง ๆ แต่กลับเพิ่มต้นทุนในการซื้อสารส่งเสริมประสิทธิภาพและความยุ่งยากในการใช้งาน สารส่งเสริมประสิทธิภาพมีจุดอ่อนย่างหนึ่งคือถ้าใช้ผิดวิธีหรือ ปริมาณไม่เหมาะสม แทนที่จะเป็นประโยชน์แต่อาจจะทำให้พืชผลเกิดความเสียหายได้ มีบางราย (ญาติผมเอง) อยากให้พริกงามก็เลยใช้ปริมาณมากเกินไป ทำให้พริกใบหล่นหมด ในส่วนนี้ผมได้ศึกษาทดลองและเปรียบเทียบหลาย ๆ ยี่ห้อซึ่งมีสูตรในการใช้งานแตกต่างกันไป ปกติคู่มือการใช้งานจะเปรียบเทียบว่ากี่ ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งเกษตรกรควรศึกษาจากคู่มือการใช้งานอย่างถูกต้องและควรเลือกยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพหรือความเข้มข้นสูงที่สุด ราคาเฉลี่ยต่อไร่ต่ำที่สุด มีความสามารถหลายอย่างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่น ปรับสภาพดิน ปรับสภาพน้ำ ช่วยจับใบ เสริมประสิทธิภาพปุ๋ยเร่งในการดูดซึม เสริมประสิทธิภาพสารปราบศัตรูพืช ซึ่งความสามารถเหล่านี้จะทำให้ลดต้นทุนได้ถึง 50% เลยทีเดียว แถมยังเพิ่มผลผลิตได้ถึง 100% อย่างน่าแปลกใจ ผมว่ามันเป็นทางรอดของเกษตรกรจริง ๆ

11. ราคาผลิตผลตกต่ำ
ส่วนนี้คือปัจจัยภายนอกที่แทบจะควบคุมไม่ได้เลย ภาครัฐคงต้องทำงานอย่างจริงจังซึ่งเกี่ยวพันกับการส่งออกไปยังต่่างประเทศ รวมถึงปัญหาโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเรายากที่จะควบคุมในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามการที่จะทุเลาปัญหานี้ได้คือเราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้ต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากที่สุด นี่แหละจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด

ผมขอสรุปส่งท้ายว่า เกษตรกรควรหันมาทำการเกษตรแบบพอเพียงโดยใช้เกษตรอินทรีย์เข้ามาช่วยให้ได้มากที่สุด ในอนาคตผลผลิตของพืชปลอดสารเคมีจะมีราคาสูงขึ้นเพราะว่าคนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เกษตรกรควรมีการบันทึกค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแต่ละรายการทั้งหมดเพื่อเป็นประโยชน์ในการคำนวณกำไร/ขาดทุน และจะเป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยต่อไป

หากต้องการคำปรึกษา มีข้อชี้แนะ แลกเปลี่ยนความรู้หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ต้องการให้สาธิตการปรับสภาพดิน ปรับสภาพน้ำ วัดค่าความเป็นกด/ด่าง ของดินหรือน้ำ รวมถึงวิธีการลดสารเคมี หรือปุ๋ย และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพไปในตัว (รวบรวมกลุ่มเกษตรกรให้ได้ 3-5 คน) ผมยินดีรับฟังและพร้อมที่จะพัฒนาด้านการเกษตรในเมืองไทยไปพร้อมกับทุก ๆ ท่านเพื่อพี่น้องเกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก มีความมันคงและมั่งคั่งครับ ติดต่อมาได้ที่
email: panyasri@hotmail.com หรือฝากเบอร์โทรมาทาง email ให้ติดต่อกลับก็ได้ครับ

ผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย


--
ปัญญา ศรีฉายา

*ที่ปรึกษาและนักวิชาการการเกษตรอิสระ
*ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สารเสริมประสิทธิภาพ APSA-80 และ Nutriplant AG
*ผู้เชียวชาญระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย, RedHat Certified Engineer
*ThaiAdmin Staff - Panya S. - www.thaiadmin.org

Email/MSN: panyasri@hotmail.com

เอกสารอ้างอิง(สำหรับท่านที่ต้องการต่อยอดทางความรู้):

การเสริมประสิทธิภาพการออกฤทธิ์(5) - ชุมชนนักส่งเสริมการเกษตร - สะแกกรัง
http://gotoknow.org/blog/stou2499000863/312366

ทำปุ๋ยน้ำจากขึ้หมู + สารจับใบ - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
http://nsw-rice.com/index.php/riceknowladge/fertirize/257-pig-ferti
http://suwan.kps.ku.ac.th/News/FileUpload/publish12-52_1.pdf
http://talk.mthai.com/topic/45033
http://www.rdi.ku.ac.th/kasetresearch53/group06/uthai/rice.html
สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล - รหัสวิชา 03-932-403
http://courseware.rmutl.ac.th/courses/105/unit000.html

น้ำส้มควัน - ศูนย์การพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
http://www.fisheries.go.th/cf-kung_krabaen/agricul1.htm

VDO น้ำส้มควัน - ManyTV
http://www.manytv.com/channels_template.php?view=Erv5B/ydhhLLhi/IS4bQ4qCIdBH/lIms

ธาตุ อาหารพืช เพื่อพืชและมนุษย์ - รองศาสตราจารย์ ดร ยงยุทธ โอสถสภา อาจารย์พิเศษ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
http://www.dryongyuth.com

ความอุดมสมบูรณ์ของดิน -
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล - รหัสวิชา 09-501-410
http://courseware.rmutl.ac.th/courses/53/unit000.htm